สนามมวยราชดำเนิน
อดีตนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม มีคำสั่งให้สร้างสนามมวยบนถนนราชดำเนินในปีพ.ศ. 2484 คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน และแจ้งไปยังบรรดาเจ้าของที่ดินตามแนวถนนราชดำเนิน เพื่อรัฐบาลสามารถก่อสร้างอาคารต่างๆ ให้เป็นไปตามผังเมืองที่กำหนดไว้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับการมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการนี้ ในเบื้องต้นได้มีการกำหนดให้สร้างสนามมวย ณ บริเวณสวนมิสกวัน มุมถนนพิษณุโลกและราชดำเนินนอก ต่อมาได้มีการพิจารณาให้เปลี่ยนจากสถานที่ที่กำหนดไว้เดิม มาเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน เนื่องจากสถานที่เดิมมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับสนามมวย ปัจจุบันสนามมวยยังคงตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอกตัดกับถนนพะเนียง ตรงข้ามกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
บริษัท อิมเพรซี อิตาเลียน ออล เฮ็สเตโร-โอเรียนเต เป็นผู้ทำสัญญาก่อสร้างสนามมวยในปี พ.ศ. 2484 โครงการได้เริ่มขึ้นโดยมีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 1 มีนาคม โครงการต้องหยุดชะงักในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2487 นายปราโมทย์ พึงสุนทร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะนั้นได้นำโครงการก่อสร้างสนามมวยเข้าสู่วงการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ท่านได้นำเสนอแผนงานต่อท่านผู้อำนวยการฯ พ.อ.สุวรรณ เพ็ญจันทร์ ซึ่งเห็นชอบและมีคำสั่งให้ดำเนินการก่อสร้างสนามมวยให้แล้วเสร็จต่อไป
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การก่อสร้างที่ค้างอยู่ก็เริ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 และกินเวลาสี่เดือนจึงแล้วเสร็จและในที่สุดสนามมวยแห่งชาติก็พร้อมสำหรับการแข่งขันนัดแรกใน วันที่ 23 ธันวาคม โดยมีนายปราโมทย์ พึงสุนทร เป็นผู้จัดการสนามมวยหรือนายสนามมวย และท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งเกษียรจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ในปี พ.ศ. 2490
นายประหลาด อิศรางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะนั้นเข้ารับหน้าที่แทนนายปราโมทย์ และดำรงตำแหน่งผู้จัดการสนามมวยอยู่นานสองปี จากนั้นนายเฉลิม เชี่ยวสกุล ได้เข้ามารับหน้าที่แทน
นายเฉลิม เล็งเห็นถึงปัญหาและความไม่สะดวกนานาประการในการจัดการแข่งขันมวยในที่แจ้ง จึงเสนอให้สร้างหลังคาคลุมพื้นที่ทั้งหมด ม.ล. ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะนั้นเห็นชอบและมอบให้บริษัท คริสตินี นีลสัน (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างหลังคาพร้อมทั้งต่อเติมที่นั่งให้มากขั้น ทำให้สนามมวยแห่งนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นสนามมวยได้มาตรฐานในปี พ.ศ. 2494
ตลอดระยะเวลาเจ็ดปีภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินฯ สนามมวยราชดำเนินประสพการขาดทุนมาตลอด สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงมีแผนที่จะวางมือและเสนอให้องค์กรเอกชนเช่าสถานที่และดำเนินกิจการกันเอง (โดยมีเงื่อนไขว่าองค์กรดังกล่าว ต้องมีคนไทยเป็นเจ้าของ) นายเฉลิม ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งผู้จัดการสนามมวยอยู่ ในขณะนั้นเห็นว่าไม่เหมาะสม ที่จะให้องค์กรหรือบุคคลนอกจากวงการมวยมาบริหารและดำเนินกิจการสนามมวย จึงขออนุมัติจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้ตนเป็นผู้ดำเนินกิจการสนามมวย และได้ก่อตั้งบริษัท ราชดำเนิน จำกัด ขึ้น เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2496
ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ บริษัท ราชดำเนินจำกัด ได้จัดการแข่งขันมวย ณ เวทีสนามมวยราชดำเนินมาตลอด และได้ทำการขยายและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนพัฒนาสนามมวยอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสนามมวยที่มีชื่อเสียงในระดับสากล และเป็นสถาบันมวยไทยแห่งหนึ่งในประเทศไทย
รายชื่อนายสนามมวยตั้งแต่บริษัทเริ่มเข้าดำเนินกิจการราว 30 ปีที่ผ่านมา มีดังนี้
กลับไปสู่กาลเวลาที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดพิธีเปิดเวทีราชดำเนิน เพื่อจัดการแข่งขันอย่างยิ่งใหญ่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 23, 24 และ 25 ธันวาคม 2488 นั้น ได้รับการบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทอดพระเนตรการแข่งขันนัดปฐมฤกษ์ด้วย ยังความปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ แก่คณะผู้บริหารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และเจ้าหน้าที่เวทีราชดำเนินล้นพ้น
และภายหลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เวทีราชดำเนินและคณะบุคคลในวงการมวยจัดตั้ง “ทุนนักมวยไทยในนูลนิธิอานันทมหิดล” ตามหนังสือสำนักราชเรขาธิการ ที่ 2268/2504 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2504 แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การแข่งขันชกมวยที่เวทีราชดำเนินอีก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2504 และเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2508 ในรายการโดยเสด็จพระราชกุศล “ทุนนักมวยไทยในนูลนิธิอานันทมหิดล” ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 3 นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงทอดพระเนตรการแข่งขันชกมวย รายโดยเสด็จพระราชกุศล “ทุนนักมวยไทยในนูลนิธิอานันทมหิดล” ครั้งที่ 6 เมื่อวันพุธที่ 17 มกราคม 2522 ด้วย
เวทีราชดำเนิน จึงไม่เพียงแต่เป็นเวทีต้นแบบการจัดการแข่งขันชกมวยในระบบมาตราฐาน ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น แต่เป็นเวทีที่เกิดขึ้นมาด้วยความยิ่งใหญ่ ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาตั้งแต่การลงเอกสารสร้างเวที ก่อนที่บริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด จะได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดการบริหารในปี 2496 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เว็บไซด์ สนามมวยราชดำเนิน :: www.rajadamnern.com
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2562